วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


         ความเป็นอิสระในการพูดโดยปราศจากการตรวจสอบและการกำจัด  ความเป็นไปได้ที่จะทำการใด ๆ ตามที่ตนเองต้องการ  จัดเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่พึงมี
         ในหลายประเทศได้มีการกำหนดกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นประชาชนจึงสามารถแสดงออกทางความคิดในลักษณะต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ

         การคุ้มครองในบางประเทศก็มีลักษณะแบบสมบูรณ์ คือ ไม่มีการลิดรอนหรือข้อจำกัดเสรีภาพไม่ว่ากรณีใด แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย จะมีข้อยกเว้นว่าสามารถจำกัดเสรีภาพได้ โดยใช้อำนาจของกฎหมาย  แต่ยังมีบางประเทศ เช่น ประเทศจีน ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในแง่ของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน 
         กฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวดที่ 3 "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" ส่วนที่ 7 "สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน" มีดังนี้

  • มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
  • มาตรา 46 พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ
  • มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • มาตรา 48 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการ ดังกล่าว



ความคิดเห็นที่กฎหมายไม่คุ้มครอง
  1. คำลามกอนาจาร
  2. คำใส่ร้ายป้ายสี
  3. คำยั่วยุให้เกิดความกลัว
  4. คำยั่วยุให้มีการก่ออาชญากรรม
  5. คำดูถูกเหยียดหยาม
  6. คำปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบ
 

ประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
         1.  การปกปิดชื่อจริง
               -  การแสดงความคิดเห็นโดยไม่เปิดเผยนาม หรือการปกปิดชื่อ คือการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลที่แสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิเสรีภาพประการหนึ่งของบุคคลที่พึงมี
               -  การปกปิดตัวตนที่แท้จริงได้ ทำให้เกิดการใช้สิทธิและเสรีภาพในด้านนี้เกินขอบเขต ขาดจริยธรรม หรือขาดความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังเป็นเครื่องหมายในการกระทำผิดกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย
          2.  ระบบส่งอีเมล์นิรนาม (Anonymous  remailer)
               -  เป็นโปรแกรมที่จะทำการปลดที่อยู่อีเมล์จริงของผู้ส่งออก แล้วแทนที่ด้วยที่อยู่นิรนาม, ที่อยู่ปลอมหรือไม่มีที่อยู่ผู้ส่งไปยังผู้รับ
               -   วิธีการนี้จะทำให้ไม่สามารถทราบอีเมล์ของผู้ส่งได้ และหากมีการเข้ารหัสเนื้อความในอีเมล์ จะทำให้การรับส่งเมล์มีความปลอดภัยมากขึ้น
          3. การแสดงข้อความหมิ่นประมาท
               - เป็นการใส่ความผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ และได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน
               - ในประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญาได้ระบุความผิดจากการหมิ่นประมาทไว้ในภาค 2 "ความผิด" ลักษณะ 11 "ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง" หมวด 3 "ความผิดฐานหมิ่นประมาท"
                - การแสดงความคิดเห็นใด ๆ ก็พึงระวังให้การแสดงความเห็นเป็นไปโดยชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน
                - โดยคำนึงว่าความคิดเห็นที่แสดงออกไปนั้น โดยเแพาะที่แสดงผ่านทางเว็บไซต์ ควรงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
                - การโพสต์แสดงความคิดเห็นพาดพิงถึงบุคคลอื่นบนเว็บไซต์โดยไม่ระวัง อาจทำให้ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่รู้ตัว อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากโพสต์แสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้


          นาย ก. สั่งซื้อของทางอินเทอร์เน็ตแล้วไม่ได้รับสินค้า เลยโพสต์ด่าหาว่าคนขายโกงเงิน, คนขายขี้โกง เป็นต้น
          นาง ข. ด่าผู้อื่นว่ารับสินบน, โกงกิน, รับส่วยใต้โต๊ะ, ประพฤติตนไม่สุจริต เป็นต้น
          นาย ค. หรือ นาง ง. ด่าว่าคู่สมรสว่ามีชู้หรือมีเมียน้อย, ด่าว่าขายบริการทางเพศ
          นาย จ. โพสต์แสดงความคิดเห็นในแง่ร้ายด่า นาง ฉ. แม้ว่าไม่ได้ใส่ชื่อ นาง ฉ. ลงไปตรง ๆ ถ้ามีผู้ใดเข้ามาอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าข้อความดังกล่าวหมายถึง นาง ฉ. ก็เป็นความผิดได้
          4.  กฎหมายได้กำหนดให้ การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาทนั้น อาจเสี่ยงที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาใน 3 มาตรา ดังนี้
                1)  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท


ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                 2)  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328  ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

                  3)  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหาย แก่ชือเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น  หาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่"
                   ดังนั้นการโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าคนโพสต์จะเป็น "ผู้ใด" หากทำให้คนอื่นเสียหาย ก็เป็นความผิดตามกฎหมายได้  เนื่องจากการหมิ่นประมาทถ้าได้โพสต์หรือกล่าวพาดพิง ถึงใครให้คนอื่นฟังก็ถือเป็นการ "ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม"  ถ้าข้อความที่โพสต์ทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่ดีกับผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิงย่อมเป็นการโพสต์หรือกล่าวที่อาจเข้าข่าย "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้ และเมื่อได้โพสต์ในอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" ซึ่งโทษหนักกว่า
                  สรุปได้ว่า การโพสต์ข้อความละเมิดผู้อื่นบนเว็บไซต์สามารถเข้าข่ายมีความผิด ฐานหมิ่นประมาทได้ ผู้โพสต์จึงอาจเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาล และถูกตัดสินให้ต้องรับผิดตามการพิจารณาของศาลได้


กรณีศึกษา
           ในกรณีเมื่อได้รับอีเมลล์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท และได้ forward ต่อไปให้ผู้อื่น จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่?
         
ตอบ
           ประเด็นนี้เกิดขึ้นได้บ่อยมากในปัจจุบัน เพราะสามารถทำการส่งข้อความหรือภาพ ที่เราได้รับมาไปให้เพื่อนหรือคนรู้จักกันได้อีกไม่จำกัดจำนวน ประเด็นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515 ซึ่งมีข้อเท็จจริงคือ จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่น โดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั่นมีข้อความหมิ่นประมาท ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท
           เหตุที่มองว่าการ Forward-mail  ไปให้ผู้อื่นถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะผู้กระทำนั้นเมื่อได้รับทราบข้อความ แล้วได้ทำการเผยแพร่ต่อไป เท่ากับเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการขยายความเสียหายออกไป อีกจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเอง แล้วถ้าหาก Forward-mail ต่อไปให้บุคคลอื่นอีกหลายคน จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาที่ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น จะต้องพิจารณาจากการกระทำเป็นหลักว่าเป็นการโฆษณาหรือไม่ โดยไม่คำนึงถึงจำนวนบุคคลผู้รับข้อความว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น